Digital Camera

ใช้กล้องอย่างมือโปร - เทคนิคการระเบิดซูม
 

เทคนิคการระเบิดซูมเป็นสุดยอดวิธีในการแต่งแต้มความตื่นเต้น และความเคลื่อนไหวให้แก่ภาพถ่ายของคุณ เทคนิคนี้ยังช่วยให้คุณสร้างสรรค์ภาพแนวนามธรรมที่แพรวพราวได้อีกด้วย Andrea Thompson จะแสดงให้คุณเห็นถึงวิธีการใช้เทคนิคนี้

เมื่อเดือนที่แล้วเราได้เรียนรู้วิธีการแพนกล้อง เพื่อเพิ่มความรู้สึกของการเคลื่อนไหวในการถ่ายกีฬาและสัตว์ป่า และอีกวิธีที่ยอดเยี่ยมในการถ่ายภาพด้วยความไวชัตเตอร์ต่ำ ที่จะช่วยแต่งเติมความตื่นเต้นและความเคลื่อนไหว ให้แก่ภาพถ่ายของคุณก็คือเทคนิคการระเบิดซูม เทคนิคนี้เกิดขึ้นจากการซูมเลนส์แบบแมนวลจากสุดความยาวโฟกัสหนึ่ง ไปสู่อีกสุดความยาวโฟกัสหนึ่งในขณะที่กล้องกำลังเปิดรับแสงอยู่ ภาพผลลัพธ์ที่ได้คือลักษณะของเส้นแสงที่ระเบิดออกมาจากตัวแบบกลางภาพที่มีความคมชัด ซึ่งให้ความรู้สึกของการเคลื่อนไหวพุ่งเข้ามาสู่กล้องถ่ายภาพ

ที่ต่างจากเทคนิคการแพนกล้องก็คือ การระเบิดซูมจะให้ผลดีกับวัตถุที่เคลื่อนที่ค่อนข้างช้า และมุ่งตรงเข้ามายังกล้องถ่ายภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือตัวแบบเช่นนักว่ายน้ำ นักปั่นจักรยาน นักขี่ม้า นักเล่นสเกตบอร์ดและนักวิ่ง เทคนิคนี้ยังช่วยสร้างภาพวัตถุ ที่อยู่นิ่งให้ดูราวกับว่ากำลังเคลื่อนไหว เช่น ภาพของรถที่จอดอยู่ รูปปั้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามค่ำคืน) หรือแม้แต่กระจกหน้าต่าง ยิ่งไปกว่านั้นหากคุณเลือกใช้เทคนิคนี้ให้เหมาะกับตัวแบบ คุณก็สามารถสร้างสรรค์ภาพที่น่าประทับใจและไม่ซ้ำใครได้ ดอกไม้ ต้นไม้ ไฟนีออน และแสงจากเมืองนั้นก็เป็นหัวข้อที่ดี ในการสร้างผลลัพธ์แนวนามธรรมโดยเทคนิคการระเบิดซูม คุณสามารถลองใช้เทคนิคนี้ได้กับตัวแบบทุกๆ อย่าง แต่วิธีที่ได้ผลดีที่สุดก็คือการเลือกวัตถุที่มีสีสันจัดจ้านสดใส ตัดกับฉากหลังที่มีสีเข้มจะช่วยเน้นรูปทรงและลวดลาย ซึ่งก็จะให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามหากวัตถุของคุณมีสีทึบเป็นหลัก ตัดกับฉากหลัง เช่น ท้องฟ้าจ้าๆ หรือพื้นน้ำใหญ่ๆ ทุ่งหญ้า หรือพื้นดิน

เมื่อคุณเลือกตัวแบบของคุณแล้ว สิ่งต่อไปก็คือการคิดถึงประเภทของเลนส์ที่คุณจะใช้ เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงบางตัวออกแบบสำหรับใช้กับกล้อง SLR นั้นจะมีวงแหวนบนกระบอกเลนส์ ซึ่งคุณสามารถเลื่อนเข้าออกสำหรับเปลี่ยนช่วงทางยาวโฟกัสได้ ลักษณะการทำงานแบบนี้จะทำให้การซูมมีความนุ่มนวลและง่ายดาย แต่ข้อเสียของมันก็คือจุดโฟกัสอาจเปลี่ยนแปลงได้ ในระหว่างการเปิดรับแสงหากวงแหวนโดนหมุน วิธีที่ปลอดภัยกว่าก็คือการใช้เลนส์ที่มีวงแหวนซูมและโฟกัสที่แยกออกจากกัน แม้ว่าคุณจะอาจจะใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสสั้น เช่น 17-35 มม. ได้ แต่เลนส์ซูมระดับกลาง เช่น 35-80 หรือ 70-200 ดูจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ามาก

ทำเทคนิคนี้ให้สมบูรณ์
หากกล่าวในเรื่องของเทคนิค มันก็มีประเด็นสำคัญหลายอย่างที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในความสำเร็จ อันดับแรกคุณจำเป็นต้องฝึกถือกล้องของคุณให้นิ่ง ขณะทำการซูมเข้าออกด้วยความเร็วที่คงที่และนุ่มนวล หากคุณต้องการให้ตัวแบบของคุณมีความคมชัดและมีเส้นสายพุ่งออกเป็นรัศมี คุณควรจะตั้งกล้องของคุณกับขาตั้งกล้อง อันดับต่อมา คุณจำเป็นต้องปรับใช้โหมดการวัดแสงแบบปรับตั้งความไวชัตเตอร์เอง (Shutter Priority) แล้วเลือกใช้ความไวชัตเตอร์ที่เหมาะสม ซึ่งค่าความไวชัตเตอร์นี้จะต้องนานพอ ที่คุณจะสามารถหมุนซูมตั้งแต่ระยะเทเลสุดไปจนถึงระยะกว้างสุด เวลาในการเปิดฉายแสงที่แน่นอนนั้นขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ความเบลอที่คุณต้องการ แต่จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดนั้นน่าจะอยู่ระหว่าง 1/2 และ 1/30 วินาที หากคุณถ่ายภาพภายใต้แสงแดดจัดคุณคงจะต้องปรับค่าต่างๆ เองด้วยโดยการเลือกใช้ค่า ISO ที่ต่ำที่สุดและหลีกเลี่ยงค่าความไวชัตเตอร์ที่สูงกว่าครึ่งวินาที ไม่เช่นนั้นแล้วคุณอาจจะต้องเลือกใช้ฟิลเตอร์ ND และ/หรือ ปรับชดเชยค่าการเปิดฉายแสงร่วมด้วย เมื่อยามสนธยามาถึงและแสงสว่างจากธรรมชาติลดน้อยลง คุณก็จะมีโอกาสทดลองถ่ายภาพด้วยค่าการเปิดฉายแสงที่ยาวนานขึ้น

ต่อมาก็ทำการจัดองค์ประกอบภาพและโฟกัสตัวแบบของคุณ โดยตั้งระยะทางยาวโฟกัสของเลนส์ไว้ที่จุดเทเล่ที่สุด จากนั้นก็กดชัตเตอร์พร้อมกับเริ่มทำการซูม เช่นเดียวกับการแพนกล้อง คุณควรทำการซูมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ของเวลาการเปิดฉายแสงเพื่อผลลัพธ์ที่นุ่มนวล และเมื่อคุณเริ่มเชี่ยวชาญกับเทคนิคการระเบิดซูมขั้นพื้นฐานแล้ว คุณอาจจะลองหยุดการซูมในระยะครึ่งหนึ่งของเวลาการเปิดรับแสงทั้งหมด แล้วค่อยซูมต่อจนสุดทางยาวโฟกัส เทคนิคนี้จะช่วยในการบันทึกรูปทรงและรายละเอียดของตัวแบบมีความคมชัด ภายใต้การระเบิดซูมซึ่งจะก่อให้เกิดจุดโฟกัสที่ชัดเจน

ในเวลาที่ถ่ายภาพระเบิดซูมแนวนามธรรม คุณอาจจะลองปรับโฟกัสให้เบลอเล็กน้อยก่อนที่จะทำการเปิดฉายแสง ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยให้รูปทรงของตัวแบบ เกิดความเบลอและยังช่วยขับความเป็นนามธรรมให้โดดเด่นมากขึ้น

:: กลับไปหน้าหลัก ::