4 หุ้นในดวงใจ IFEC ละครดราม่า เคล้าน้ำตาผถห. GL หนึ่งครหาร่วง 4 ฟลอร์ EARTH ลับลวงพรางหนี้ POLAR นักเปลี่ยนหน้า

จตุรมิตร 4 หุ้นโหด !!!!


สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -17 ก.ค. 60 11:15 น.
  เราทุกคนต่างถูกสอนให้เก็บออมเงิน และทำเงินออมให้งอกเงยผ่านการลงทุนต่างๆ เพื่อให้มีเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หรือยามป่วยไข้ไร้เรี่ยวแรง และตัวเลือกยอดนิยมของการลงทุนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดหุ้นเป็นตัวเลือกที่สร้างผลตอบแทนได้เป็นจำนวนมากและเร็วที่สุด แต่การลงทุนในตลาดหุ้นวันนี้ยังเป็นตัวเลือกที่ดีหรือไม่ในสถานการณ์ที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลายแห่ง "พร้อมจะเล่นงานคุณตลอดเวลา"
*** POLAR นักเปลี่ยนหน้า ล่าสุดยื่นฟื้นฟูกิจการค้านสายตาผถห.�  �  หนึ่งในหุ้นที่มีประวัติโชกโชน และยังสามารถอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้มาจนถึงทุกวันนี้ แม้ปัจจุบันจะติดเครื่องหมาย SP อยู่ เนื่องจากไม่ส่งงบการเงินไตรมาส 1/60 ก็ตาม หุ้นตัวนี้แรกเริ่มเดิมทีชื่อบริษัท นครหลวงเส้นใยสังเคราะห์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTX �  ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการในปี 48 และในวันที่ 11 ก.ค. 50 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ลิฟวิ่งแลนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือมีชื่อย่อว่า LL และเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท วธน แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ WAT ในวันที่ 16 พ.ค. 56 ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ชื่อหุ้น บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR ในวันที่ 21 ม.ค. 58�  โดยล่าสุดบริษัทได้เข้ายื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 60 เนื่องจากบริษัทแจ้งว่ามี"หนี้สินล้นพ้นตัว" ในขณะที่งบการเงินประจำปี 59 ซึ่งนำส่งเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 60 มีความไม่สอดคล้องกันอย่างมาก เนื่องจากพบว่ามีหนี้สินเพียง 465 ล้านบาท ในขณะที่มีส่วนผู้ถือหุ้นสูงถึง 4,580 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้ชี้แจงว่า "หนี้สินล้นพ้นตัว" มาจากหนี้สินเดิมในช่วงก่อนการฟื้นฟูกิจการของ HTX ในปี 48 กับธนาคารนครหลวงไทย หรือปัจจุบันคือธนาคารธนชาต เป็นเงินต้น 546 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมดอกเบี้ยผิดนัดและดอกเบี้ยปรับ 1,088 ล้านบาท บริษัทจะมีหนี้จากส่วนนี้อยู่ที่ 1,634 ล้านบาท และหนี้อื่นๆ จากการฟ้องร้องอีก 3 คดี�  แต่อย่างไรก็ตาม หนี้ที่ค้านสายตาผู้ถือหุ้นรายย่อย และทำให้เกิดคำถามกับความโปร่งใสในการยื่นขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทในครั้งนี้มากที่สุดคือ การที่บริษัทสามารถนำมูลหนี้ 2 คดีที่ยังไม่เกิดขึ้นกับบริษัทเข้ามารวมเพื่อยื่นขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 9 พ.ค.60 ได้�  ทั้งๆ ที่บริษัทยังไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ซึ่ง 2 คดีดังกล่าว ได้แก่ บริษัท ยูไนเต็ดเทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ฟ้องเรียกเงิน 2,772 ล้านบาท จากค่าเสียหายที่บริษัทยกเลิกการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ในพังงา บริษัทได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในวันที่ 21 พ.ค.60 และการฟ้องร้องจากนายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย เรียกเงิน 345 ล้านบาท จากค่าเสียหายการยกเลิกจำหน่ายหุ้นของบริษัทย่อย ซึ่งบริษัทได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในวันที่ 30 พ.ค. 60 ซึ่งในขณะนี้บริษัทยังไม่มีคำชี้แจงในประเด็นดังกล่าว และยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ กับบริษัทได้�  ซึ่งหากคำนวณว่าจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้งหมดของ POLAR เป็นผู้ที่ออมเงินและใช้ลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนไว้ใช้ยามบั้นปลายของชีวิต เท่ากับว่าจะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มากถึง 11,523 ราย เลยทีเดียว
*** EARTH ลับ ลวง พราง(หนี้)�   หุ้นที่กำลังเป็นที่โจษจันในขณะนี้ หลังจากที่อยู่ๆ ราคาของหุ้นที่ได้ชื่อว่าเติบโตสูงตัวนี้ดิ่งฟลอร์หลายวันติดกัน จนผู้บริหารออกมาให้ข่าวว่าเกิดจากการถูกบังคับขาย (Force Sell) ก่อนที่ความจริงจะเริ่มปรากฎว่าบริษัทมีการหมกเม็ดเบี้ยวหนี้ตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) อยู่เป็นจำนวน 90 ล้านบาท ตามที่บริษัทชี้แจงในวันที่ 9 มิ.ย.60 และมีหนี้ตั๋วเงินระยะสั้นที่จะทยอยครบกำหนดภายใน 15 มิ.ย. 60 - 26 ก.ค. 60 อีก 470 ล้านบาท ซึ่งบริษัทชี้แจงว่าหากผิดชำระครบ 500 ล้านบาท อาจจะถูกเรียกไถ่ถอนหุ้นกู้ทันทีจำนวน 5,500 ล้านบาท การที่บริษัทชี้แจงข้อมูลดังกล่าวและแนวทางแก้ไขออกมาทำให้ผู้ถือหุ้น และผู้กำกับตลาดเริ่มมีความผ่อนคลายลงบ้างในขณะนั้น เนื่องจากยังเหลือระยะเวลาในการชำระหนี้อีกมากก่อนจะถึงกำหนดผิดนัดชำระหนี้ครบ 500 ล้านบาท�  ซึ่งหากอ้างอิงตามที่บริษัทชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทจะไม่มีการผิดชำระหนี้ใดๆ ทั้งสิ้น ก่อนวันที่ 15 มิ.ย. 60 แต่ในวันที่ 14 มิ.ย. 60 บริษัทกลับเปิดพรมที่ซุกไว้และแจ้งว่ามีการผิดชำระหนี้แบงก์รวม 717 ล้านบาท ทำให้เข้าเกณฑ์ถูกเรียกไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้งหมดในทันที อันเป็นเหตุทำให้บริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ในวันถัดมา�  ณ วันปิดสมุดทะเบียนล่าสุด EARTH มีผู้ถือหุ้นรายย่อยอยู่ที่ 6,949 ราย
*** IFEC ละครดราม่า เคล้าน้ำตาผู้ถือหุ้น�   อีกหนึ่งหุ้นมหากาพย์ชื่อดังที่ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสิ้นเนื้อประดาตัวกันไปเป็นจำนวนมาก หุ้น IFEC เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายเครื่องถ่ายเอกสารชื่อ Konica Minolta ก่อนที่ธุรกิจจะซบเซาจน"นายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์" เข้าซื้อหุ้น IFEC จำนวน 10% ในปี 56 จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 และปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจสู่ผู้ผลิตพลังงานทดแทนเช่นในปัจจุบัน ประกอบกับเป็นช่วงที่ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก แม้แต่นักวิเคราะห์ยังแนะนำซื้อ ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปสู่จุดสูงสุดราว 17 - 18 บาท ในช่วงปี 58�  ก่อนที่ราคาหุ้นจะทยอยปรับตัวลดลงมาจนในช่วงปลายปี 59 หลังจากที่ได้เข้าซื้อ"โรงแรมดาราเทวี"หุ้น IFEC เริ่มออกอาการพิรุธ เมื่อนายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แถลงข่าวถึงความมั่นใจในทิศทางการเติบโตที่สวยหรูของบริษัททั้งการลุยโครงการ อสังหาริมทรัพย์ด้วยโรงแรมดาราเทวี และโครงการพลังงานทดแทนที่เข้าคิวสร้างรายได้ให้อีกมาก แต่"สิทธิชัย"กลับขายหุ้น IFEC ออกมาสวนทางกับการเติบโตของบริษัท ก่อนที่ความจริงจะเปิดเผยถึงความขัดแย้งกันระหว่างนายแพทย์วิชัยกับนายสิทธิชัย โดยมีการกล่าวหากันถึงพฤติกรรมยักยอกทรัพย์ และการทำธุรกรรมซ้ำซ้อนจน IFEC เสียหาย�  ในขณะเดียวกันตัวละครใหม่"กลุ่มเตชะนาวากุล" เริ่มเข้ามามีบทบาทจากการทยอยเข้าซื้อหุ้น IFEC เพื่อเข้ามาพลิกฟื้นบริษัท ซึ่งหลังจากนั้นนายสิทธิชัยตัดสินใจลาออกจาก IFEC ในวันที่ 9 ธ.ค. 59 ก่อนที่จะส่งไม้ต่อหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดให้แก่กลุ่มเตชะนาวากุลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในขณะนั้น�  แม้จะมีผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่เข้ามาแต่ IFEC ก็ยังมีปัญหาไม่สามารถดำเนินการชำระหนี้ตั๋วเงินระยะสั้น(B/E) เข้ามาอีกหลายครั้ง และเริ่มติดเครื่องหมาย SP ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 59 และวันที่ 12 ม.ค.60 จนถึงในขณะนี้ IFEC ยังไม่สามารถนำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 1/60 เพื่อแก้เครื่องหมาย SP ได้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมากลุ่มเตชะนาวากุลได้เข้าเป็นคณะกรรมการใน IFEC แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือในการประชุมทำให้ต้องยอมแพ้ลาออกจากการเป็นกรรมการของ IFEC ในที่สุดเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 60�  ณ วันปิดสมุดทะเบียนล่าสุด IFEC มีผู้ถือหุ้นรายย่อยอยู่ที่ 27,170 ราย
*** GL เพียงหนึ่งครหา พาหุ้นร่วง 4 ฟลอร์�  หุ้นตัวนี้สร้างความเจ็บช้ำให้กับผู้ถือหุ้นอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเดิมเป็นหุ้นกลุ่มลีซซิ่งที่มีการเติบโตสูงมาก จากการทำธุรกิจในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้รับการแนะนำซื้อจากนักวิเคราะห์อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอยู่ตลอด จนไปอยู่จุดสูงสุดที่ 69.75 บาทในปี 59�  ต่อมาเมื่อบริษัทส่งมอบงบการเงินประจำปี 59 ผู้ตรวจสอบบัญชีกลับลงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไขแต่มีข้อสังเกต เนื่องจากลูกหนี้ของบริษัทใช้หุ้น GL มาเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน ทำให้ในระยะถัดมาเกิดกระแสข่าวลือขึ้นถึงความไม่โปร่งใสในการปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ และอาจเกิดการผิดนัดชำระขึ้นอันเป็นเหตุทำให้ราคาหุ้น GL ปรับตัวลดลงติดฟลอร์ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 4 วัน ไปสู่จุดต่ำสุดที่ 12.40 บาท�  ณ วันปิดสมุดทะเบียนล่าสุด GL มีผู้ถือหุ้นรายย่อย 17,557 ราย�  หุ้นทุกตัวที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนเป็นหุ้นที่เคยมีการเติบโตที่ดี ได้รับการแนะนำซื้อจากนักวิเคราะห์ทั้งสิ้น และไม่มีการส่งสัญญาณใดๆ ก่อนผันตัวจาก "ผู้ดี" เป็น"ผู้ร้าย" ช่วงชิงเงินลงทุนที่ใช้เก็บออมไป ตลาดหุ้นวันนี้ยังเป็นทางเลือกที่ดีหรือไม่ ในสถานการณ์ที่หุ้นในพอร์ต "พร้อมจะเล่นงานคุณตลอดเวลา"

http://www.efinancethai.com/LastestNews/index.aspx?ref=A&id=2OQEf0iGoBg=&year=2017&month=7&lang=T
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่