Sell in May and go away : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

นักวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้น   มักจะพูดถึงแต่เรื่องทาง “เทคนิค”  นั่นคือพูดถึงแต่เรื่องตัวเลข  แนวรับแนวต้าน  เส้นกราฟต่าง ๆ  อย่างเป็นงานเป็นการ  พวกเขาจะต้องทำตัวให้ดูเคร่งขรึม  “น่าเชื่อถือ”  คนที่ใช้ต้องมี “วินัย”  เพื่อที่จะไม่ตัดสินใจผิดพลาด  การ “ไม่เชื่อกราฟ” นั้นดูเหมือนว่าจะทำให้การเล่นหุ้นแบบเทคนิค “ผิดพลาดมากที่สุด”  อย่างไรก็ตาม  หลังจากที่เทคนิคต่าง ๆ  ถูกศึกษาและมีการนำมาใช้กว้างขวางและ “อยู่ตัวแล้ว”  พวกเขาก็เริ่มที่จะหาอะไรที่มี “สีสัน” มาเล่นมากขึ้น  และต่อไปนี้ก็คือเรื่องที่มีการพูดหรือใช้กันต่อเนื่องมาช้านาน  บางเรื่องหรือบางเทคนิคก็มีการศึกษาต่อเนื่องกันมาและในตลาดหุ้นอื่น ๆ  ซึ่งก็ใช้ได้หรือถูกต้องบ้างไม่ถูกต้องบ้าง   บางเรื่องก็ใช้ไม่ได้เลยหรือพิสูจน์ไม่ได้ทั้งในตลาดเดิมและในตลาดอื่น  อย่างไรก็ตาม  เรื่องที่มีสีสันเหล่านั้นก็มักจะถูกยกขึ้นมากล่าวอยู่เรื่อย ๆ  จนคนรุ่นหลังคิดว่ามันเป็นเทคนิคที่ใช้ได้จริง ๆ  หรือมีโอกาสถูกต้องในระดับหนึ่ง

    เรื่องแรกที่ผมจะพูดก็คือคำกล่าวที่ว่า  Sell in May and go away เพราะขณะนี้เรากำลังอยู่ในเดือน May หรือเดือนพฤษภาคมและนักวิเคราะห์บางคนก็นำมาพูดแนะนำว่านักลงทุนควรขายหุ้นไปก่อนและออกจากตลาดหุ้นจนกว่าจะถึงเดือนตุลาคม   บางคนก็แนะนำว่าเดือนพฤษภาคมปีนี้เราไม่ควรขายแต่ควรจะซื้อ  เสร็จแล้วก็ยกเหตุผลต่าง ๆ  นา ๆ มาประกอบในการวิเคราะห์   ราวกับว่าหุ้นในเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมของทุกปีนั้นมักจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่นของปี

    ผมเองในฐานะที่เรียนทางด้านการลงทุนจนจบปริญญาเอกก็ไม่เคยพบว่ามีการศึกษาที่พบว่าเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นจะตก  ผมเข้าใจว่าครั้งหนึ่ง..นานมาแล้ว  คงจะมีนักลงทุนบางคนพูดขึ้นมาหรือเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้  หลังจากนั้นก็อาจจะปรากฏว่าหุ้นตกลงมาอย่างแรงจริงในเดือนพฤษภาคม  หลังจากนั้นก็อาจจะมีคนมาพูดย้ำ   คำพูดที่ว่า Sell in May and go away เองก็เป็นคำพูดที่มีเสียงคล้องจองกันฟังแล้วจำได้ทันที  หลังจากนั้น  พอถึงเดือนพฤษภาคมครั้งใด  คนก็จะพูดกันว่าหุ้นอาจจะตก  และพอปีไหนที่หุ้นตกจริง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตกแรง  คนก็จะยิ่งเชื่อว่าหุ้นมักจะตกในเดือนพฤษภาคม  ส่วนปีใดที่หุ้นไม่ตก  คนก็จะไม่พูดถึง  ผลก็คือ  สมองของนักลงทุนทั่วไปนั้นได้รับการ “ย้ำ” ความเชื่อที่ว่าเดือนพฤษภาคมอาจจะไม่ใช่เดือนที่ดีในแง่ของการลงทุนและควรขายหุ้นไปก่อน

    ความเป็นจริงก็คือ  จากการศึกษาตลาดหุ้นในสหรัฐกลับพบว่าตลาดหุ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมนั้นมักจะขึ้นมากกว่าลง  การศึกษาในตลาดหุ้นไทยนั้นผมไม่แน่ใจ   แต่คิดว่าเรื่อง Sell in May and go away นั้นไม่น่าจะเป็นจริง  พูดง่าย ๆ  เป็นเรื่องที่บังเอิญมีการพูดกันเล่น ๆ  นานมาแล้ว  และคนก็จะพูดต่อ ๆ  กันไปทั้ง ๆ  ที่ไม่เป็นความจริงเลย  ดังนั้น  เรื่องนี้เราไม่ควรจะไปยึดถืออะไรจริงจัง  แต่เชื่อเถอะว่าในปีต่อไปคนก็จะพูดอีกเวลาถึงเดือนพฤษภาคม

    เรื่องที่สองก็คือ  January Effect  หรือเดือนมกราคมเป็นเดือนที่หุ้นมักจะขึ้น  เรื่องนี้มีการศึกษาจริงในตลาดสหรัฐในช่วงเวลาหนึ่งที่ยาวพอสมควรและสามารถสรุปได้ว่าเรื่องนี้เป็นจริง  เหตุผลที่หุ้นมักจะขึ้นก็ได้รับการอธิบายว่าเป็นเรื่องของการที่สถาบันลงทุนอาจจะขายหุ้นที่  “ขาดทุน”  ก่อนสิ้นปีเพื่อจะได้ “ลดภาษี” นิติบุคคล  เสร็จแล้วพอขึ้นปีใหม่ก็กลับไปซื้อหุ้นคืนทำให้หุ้นขึ้น  บ้างก็บอกว่าในเดือนมกราคมนั้น  คนมักจะมีความหวังและมองโลกในแง่ดีจึงเข้าไปซื้อหุ้นมากกว่าปกติทำให้หุ้นขึ้น  โดยเฉพาะในช่วงสองสัปดาห์แรกของปี  การศึกษาในตลาดหุ้นหลายประเทศก็พบว่าได้ผลคล้าย ๆ  กัน  อย่างไรก็ตาม  หุ้นที่ขึ้นดีมักจะเป็นหุ้นตัวเล็กที่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นสูงกว่าปกติและบางทีก็มีสภาพคล่องต่ำซึ่งทำให้กำไรที่จะได้รับนั้นถูกค่าคอมหรือส่วนต่างราคาซื้อขายหุ้นกินหมด  พูดง่าย ๆ  ก็คือ  ในทางปฏิบัติแล้ว  วิธีนี้ทำกำไรไม่ได้จริงหรือไม่คุ้ม  และบางปีหรือบางช่วง  January Effect ก็ไม่เกิด  ดังนั้น  ผมคิดว่านี่ก็เป็นเรื่องที่เอาไว้พูดเล่น ๆ  เท่ ๆ  มากกว่าที่จะเป็นเรื่องจริงจัง

    เรื่องที่สามคือเรื่องของการซื้อขายหุ้นแบบ Odd-Lot หรือซื้อขายไม่ครบ 100 หุ้นหรือ “เศษหุ้น”  นี่เป็นเรื่องของการซื้อขายของนักเล่นหุ้นรายย่อยในสหรัฐที่มีเงินไม่พอซื้อหุ้นครบล็อตเนื่องจากหุ้นในสหรัฐมักจะมีราคาสูง ราคาหุ้นมาตรฐานมักจะอย่างน้อยหลายสิบเหรียญต่อหุ้น    เทคนิคการซื้อขายหุ้นในเรื่องนี้ก็คือ  ดูว่าคนที่เล่นหุ้น Odd-Lot ซื้อ  เทียบกับที่ขาย  ถ้าเมื่อไรคนกลุ่มนี้ซื้อมากกว่าขายก็แปลว่ารายย่อยเข้ามาซื้อหุ้นซึ่งเป็นสัญญาณว่า  “หมู”  กำลังเข้าตลาด  และถ้าพวกเขาซื้อหุ้นตัวไหน  เราก็ต้องขายหุ้นตัวนั้น  เพราะพวกรายย่อยซึ่งถูกตั้งสมมุติฐานว่า “ลงทุนไม่เป็น”  มักจะ “ผิด” เสมอ

    ข้อมูลจากการศึกษาพบว่านักลงทุนรายย่อยนั้น  ไม่  “หมู”  เท่าไรนัก  ผลตอบแทนของพวกรายย่อยอาจจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลาดเพียงเล็กน้อย  แต่นี่ไม่พอที่เราจะใช้ตัวเลขขายหรือซื้อสุทธิของรายย่อยมาทำกำไรในตลาดได้   ในกรณีของตลาดหุ้นไทยนั้น  ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ  เราสามารถดูว่านักลงทุนรายย่อยซื้อหรือขายสุทธิได้ทุกวันโดยตรงอยู่แล้ว  ถ้าเราคิดว่านักลงทุนรายย่อยเป็น  “หมู”  หรือ  “แมงเม่า”  เราก็สามารถใช้ข้อมูลการซื้อขายหุ้นสุทธิมากำหนดเป็นกลยุทธ์ในการซื้อขายหุ้นได้  เช่น  ถ้านักลงทุนรายย่อยซื้อ  เราต้องขาย  แต่ถ้ากลุ่มนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ  เราก็ซื้อ  เราอาจจะเรียกทฤษฎีนี้ให้เท่ว่าเป็น  “ทฤษฎีแมงเม่า”  ก็ได้  ผมเองไม่แน่ใจว่ามีใครศึกษาเรื่องนี้ในตลาดหุ้นไทยไหม  แต่ครั้งหนึ่งนานมาแล้วสมัยที่ตลาดหุ้นไทยยังเล็กและไม่คึกคักอย่างทุกวันนี้  ผมเคยศึกษาและพบว่า  ช่วงไหนที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ  ตลาดหุ้นจะขึ้น  ถ้า “ฝรั่ง” ขาย  หุ้นก็ตก  รายย่อยเป็น “แมงเม่า”  ที่มักจะถูก “กิน” เสมอ    ในปัจจุบันนั้น  ผมเองไม่แน่ใจว่านักลงทุนกลุ่มไหนเป็น “หมู” หรือเป็น “เซียน”  ดังนั้น  ผมเองก็คิดว่าเทคนิคนี้ก็ไม่น่าจะใช้ได้ในตลาดหุ้นไทย

    ทฤษฎีที่ดูแล้วไม่เกี่ยวกับหุ้นเลยแต่คนก็นำมาพูดกันและหลายคนก็อาจจะเชื่อก็คือ  “ดัชนีชายกระโปรงหรือกางเกง”  ของผู้หญิง  หลักการง่าย ๆ  ก็คือ  ตอนต้นปีเราก็ตรวจสอบหรือคาดการณ์ดูว่าแฟชั่นกระโปรงหรือกางเกงของผู้หญิงจะเป็นอย่างไร  ดัชนีตลาดหุ้นในปีนั้นก็จะเป็นอย่างนั้น  เช่น ถ้าแฟชั่นเป็นมินิสเกิร์ตหรือกางเกงขาสั้น  ราคาหุ้นก็มักจะปรับขึ้นไปเป็นกระทิง  แต่ถ้าเป็นกระโปรงกรอมเท้าหรือกางเกงขายาว  หุ้นก็ตกลงมา  “ที่พื้น”  คนที่คิดและเสนอเรื่องนี้ถึงกับแสดงดัชนีหุ้นกับชายกระโปรงให้เห็นซึ่งก็ดูสอดคล้องกันพอสมควรย้อนหลังไปถึงร้อยปี  อย่างไรก็ตาม  หลายครั้งก็ผิดพลาดเช่น  ช่วงสมัยที่ผมเป็นวัยรุ่นราวปี  1970 ที่มินิสเกิร์ตเป็นที่นิยมมาก หุ้นกลับตกลงมา  แต่ที่อาจจะทำให้คนทึ่งและจดจำได้แม่นก็คือ  ในปี 1987 ที่ช่วงต้นปีตลาดหุ้นขึ้นไปแรงมากถึงกว่า 40% ในหนึ่งปีซึ่งตรงกับช่วงที่ผู้หญิงนุ่งกระโปรงสั้นมาก  แต่แล้วพอถึงเดือนตุลาคมอากาศก็เย็นลงและแฟชั่นก็ “เปลี่ยนกระทันหัน”กลายเป็นกระโปรงกรอมเท้า  และนั่นก็ตรงกับ  “Black Monday”  ที่ตลาดหุ้นตกลงมาเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก  ในวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม วันเดียว ตลาดหุ้นตกลง 508 จุดหรือ 22.6% ตกหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นอเมริกา  และนั่นก็คงมีส่วนที่ทำให้คนพูดถึงเรื่องชายกระโปรงนี้ไปอีกนาน

    ยังมีเรื่องราวหรือเครื่องชี้แปลก ๆ  ที่โยงไปถึงการคาดการณ์ตลาดหุ้นที่  “ไม่จริง” อีกหลายเรื่องที่คนพูดถึงกันอยู่เรื่อย ๆ  บางเรื่องก็อาจจะ  “เคยจริง”  แต่ตอนนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว  ซึ่งนี่ก็เป็นธรรมชาติของตลาดหุ้นที่คอย “ปรับตัวเอง” เสมอที่จะทำให้ไม่มีใครสามารถใช้เทคนิคที่จะทำกำไรได้งามอย่างง่าย ๆ  ดังนั้น  เราในฐานะที่เป็นนักลงทุนจึงไม่ควรจะหวังที่จะ “ชนะ” โดยทำอะไรที่คนอื่นก็รู้และทำกันง่าย ๆ   จำไว้ว่าการทำกำไรสูง ๆ  ได้ในตลาดหุ้นนั้น  ยากมาก

http://portal.settrade.com/blog/nivate/2016/05/16/1729
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่