ชาวพุทธไม่ยอมศึกษาความหมายของคำว่า "อัตตา" และ "อนัตตา" ให้ถูกต้อง จึงเกิดความเห็นผิดขึ้นมา

กระทู้สนทนา
ชาวพุทธไม่ยอมศึกษาความหมายของคำว่า "อัตตา" และ "อนัตตา" ให้ถูกต้อง จึงเกิดความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ขึ้นมา

คำว่า อัตตา หมายถึง สิ่งที่เป็นตัวตนของตนเอง โดยไม่อาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่งหรือสร้างมันขึ้นมา
โดย อัตตา นี้จะมีลักษณะ
๑ เที่ยงแท้ถาวร (นิจจัง) หรือตั้งอยู่ชั่วนิรันดร หรือเป็นอมตะ ไม่มีวันดับหายไปอย่างเด็ดขาด
๒. มีสภาวะที่ไม่ต้องทน (สุขัง) คือมีความสุขสบายอยู่ตลอดเวลา
๓. มีตัวตนเป็นของตนเอง หรือมีตัวตนที่แท้จริง

เรื่อง อัตตา นี้เป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ (หรือฮินดู) ที่สอนว่า จิต หรือ วิญญาณ ของคนเรานี้เป็นอัตตา ที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้วได้ หรือมีการเกิดขึ้นมาใหม่ได้แม้ร่างกายจะตายไปแล้ว ซึ่งความเชื่อนี้ก็ทำให้เกิดความเชื่อเรื่อง นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ชนิดที่เป็นบุคคลตัวตน และความเชื่อเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้นขึ้นมา ซึ่งคำสอนนี้ก็ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าหลังพุทธปรินิพพาน มาช้านานแล้วโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว  

ส่วนคำว่า อนัตตา หมายถึง ไม่ใช่อัตตา (หรือไม่ใช่ตัวตนอย่างของพราหมณ์) คือเป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าจะมีสิ่งที่เป็นอัตตาตามคำสอนของศาสนาพราหมณ์อยู่ในชีวิตหรือในร่างกายและจิตใจของทุกชีวิต ส่วนสิ่งที่เป็นร่างกายและจิตใจของทุกชีวิตนี้จะเป็น "สังขาร" ที่หมายถึง สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง (หรือสร้างหรือประกอบ) ขึ้นมาตามธรรมชาติ  

โดยสิ่งที่ปรุงแต่งให้เกิดร่างกายก็คือธาตุ ๔ อันได้แก่ ของแข็ง, ของเหลว, อุณหภูมิ, และก๊าซ  ส่วนสิ่งที่ปรุงแต่งให้เกิดจิตก็คือ วิญญาณ (การรับรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการกระทบกันของอายตนะภายนอกกับอายตนะภายใน เช่น เมื่อรูปมากระทบตา ก็จะเกิดการรับรู้รูปขึ้นมา เป็นต้น), เวทนา (ความรู้สึกเมื่อเกิดการรับรู้ขึ้นมาซึ่งก็ได้แก่ สุข,ทุกข์,ไม่สุขไม่ทุกข์), สัญญา (การจำสิ่งที่รับรู้และรู้สึกนั้นได้), สังขาร (การปรุงแต่งของจิต เช่น คิด อยาก ยึดถือ เป็นต้น)  

โดยสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายจะมีลักษณะ ๓ ประการ คือ
๑. ไม่เที่ยงแท้ถาวร (อนิจจัง) คือไม่หยุดนิ่งหรือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และไม่สามรถตั้งอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป คือจะต้องแตก(ใช้กับวัตถุ) หรือ ดับ (ใช้กับจิต) ไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว หรือเรียกว่าไม่เป็นอมตะ
๒. มีสภาวะที่ต้องทน (ทุกขัง) คือเมื่อ "สิ่งที่ถูกแต่งขึ้นมา" นั้นยังตั้งอยู่ ก็ยังต้องทนที่จะประคับประคอง "สิ่งที่มาปรุงแต่ง" ของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบากอยู่ตลอดเวลา
๓.ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง (อนัตตา) หรือเป็นเพียงตัวตนชั่วคราว หรือ ตัวตนสมมติเท่านั้น

คำสอนเรื่องอนัตตานี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนว่าทั้งร่างกายและจิตใจของทุกชีวิตนี้เป็นอนัตตา หรือไม่ใช่อัตตาอย่างที่พราหมณ์สอน ดังนั้นจึงเท่ากับว่าคำสอนเรื่อง อนัตตา ของพระพุทธเจ้านี้จะตรงข้ามกับคำสอนเรื่อง อัตตา ของพราหมณ์อย่างสิ้นเชิง และเมื่อพราหมณ์สอนว่ามีอัตตาเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย และมีนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เทวดา นางฟ้า เป็นต้น พระพุทธเจ้ากลับสอนว่า ไม่มีสิ่งที่เป็นอัตตาไปเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายได้ ดังนั้นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกาย และเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เทวดา นางฟ้า เป็นต้น จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นถ้าใครยังเชื่อว่าจิตเป็นอัตตาเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย ก็เท่ากับว่ายังมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) จากคำสอนของพระพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าสอนเรื่องจิตที่เวียนว่ายตาย-เกิดอยู่ในร่างกายขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้เท่านั้น ลองอ่านเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้จาก http://www.whatami.net/lum/lum120.html )
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่