มหาวิทยาลัยรับน.ศ.ครูปี55ทะลุ1แสน หวั่นตกงาน

กระทู้ข่าว
นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยในการบรรยายพิเศษในการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่องการพัฒนากรอบและทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของประเทศ (พ.ศ.2555-2558) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กรุงเทพฯ ว่า วิกฤตคุณภาพการศึกษาไทย สะท้อนจากการถูกจัดอันดับถดถอยลงตามลำดับทุกปี อาทิ การประเมินของ World Economic Forum (WEF) ล่าสุด ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประเทศไทย อยู่อันดับ 6 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยไทยตามหลังเวียดนาม ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ระดับอุดมศึกษา อยู่อันดับ 8 ตามหลังกัมพูชาและฟิลิปปินส์ ซึ่งตนไม่อยากเชื่อผลประเมิน แต่ก็ต้องรับทราบข้อมูลไว้ก่อน


นอกจากนี้ การจัดอันดับของหน่วยงานอื่นๆ ไทยก็ถูกจัดอันดับต่ำลงเรื่อยๆ ขณะที่ประเทศมาเลเซียมีลำดับที่ดีขึ้น ทั้งพบว่าการประเมินความสามารถในการแข่งขันของไทยในภาพรวมอยู่อันดับที่ 30 จากประเทศที่เข้าร่วม 59 ประเทศ แต่เมื่อแยกเป็นด้านๆ คะแนนจะต่ำมาก เช่น ด้านการศึกษาอยู่ลำดับที่ 52 ด้านประสิทธิผล ลำดับที่ 57 ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ ลำดับที่ 40 เทคโนโลยี ลำดับที่ 50

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวต่อว่า สถาบันวิจัยของสำนักพิมพ์ตำรา Pearson จัดอันดับการศึกษาของไทยอยู่ในกลุ่มสุดท้าย ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่มีคะแนนต่ำที่สุด โดยสถาบันนี้ได้วิจัยและมีข้อสรุปว่า เงินทุนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดของการมีระบบการศึกษาที่ดี และการที่ครูอาจารย์มีเงินเดือนสูง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสามารถทางการสอนสูงตามไปด้วย สำหรับประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราผลักดันเรื่องเงินเดือนครู ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็ต้องเร่งรัดครูในเรื่องประสิทธิภาพในการสอนควบคู่กันไปด้วย


ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการศึกษาของชาตินั้น รัฐบาลนี้มีนโยบายที่จะปฏิรูปหลักสูตรและปฏิรูปครู ขณะนี้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ระหว่างการปรับรื้อ ส่วนการปฏิรูปครูนั้น จะต้องเร่งวางระบบการผลิตและพัฒนาที่ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ออกมาระบุเพียงว่า 10 ปีข้างหน้าเราจะมีครูที่เกษียณอายุราชการ 200,000 อัตรา แต่สถาบันการผลิตครูกลับไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในการผลิตครู โดยพบว่า ในปี 2555 มีอัตราว่างเพื่อบรรจุครู 1,500 อัตรา แต่มีผู้จบครูมาสมัคร 190,000 คน แสดงว่าขณะนี้มีคนที่มีใบประกอบวิชาชีพครูที่ไม่มีงานทำกว่า 200,000 คน ขณะที่สถาบันการผลิตครูรับนักศึกษาเฉลี่ยปีละ 50,000 คน และที่น่าตกใจมากกว่านั้นคือ ปี 2555 การรับนักศึกษาปี 1 ของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ พุ่งสูงถึง 100,000 คน ดังนั้น ในอีก 5 ปีจะมีบัณฑิตที่จบด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หลายแสนคนและคาดว่าจะหางานทำกันไม่ได้เพราะแต่ละปีมีอัตราว่างบรรจุไม่กี่พันคน

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า งบประมาณเพื่อการวิจัยทางการศึกษาลดลงตามลำดับในแต่ละหน่วยงานวิจัย อย่างสภาวิจัยแห่งชาติได้งบประมาณปีละ 1,600 ล้านบาท แต่เป็นงบวิจัยการศึกษาเพียง 25 ล้านบาทหรือ 1.5% และมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติที่ปีล่าสุดถูกปรับลดงบประมาณเหลือเพียง 800 ล้านบาท ฉะนั้น จะเห็นว่านโยบาย งบประมาณและการวิจัยทางการศึกษาต้องไปด้วยกันถึงจะขับเคลื่อนการศึกษาได้

นายวิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวว่า เป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้วที่จะทำการวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายการศึกษาของรัฐบาล เพราะนโยบายที่ตั้งบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นทิศทางที่ถูกต้อง ถ้าเริ่มต้นตรงนี้จะปฏิรูปการศึกษาได้ถูกต้อง ส่วนที่มีการวิจัยแล้วไม่ค่อยนำไปใช้นั้น คิดว่าประเทศไทยประสบปัญหาทั้งเรื่องไม่มีการวิจัยและการนำผลไปใช้ ฉะนั้น จำเป็นต้องดำเนินการทั้ง 2 ด้านไปพร้อมๆ กัน


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1356599717&grpid=&catid=19&subcatid=1903


ทำไมยังมีคนไปสมัครเรียนครูกันมากขนาดนั้นครับ

อัตราบรรจุ 1500 คนสมัครเกือบสองแสน แสดงว่า 1500 คนที่สอบติดต้องเก่งจริงๆ ครูรุ่นก่อนๆ ก็เคยว่าอัตราการแข่งขันในการสอบเข้าสูงเช่นกัน แต่ทำไมมีปัญหาครูสอนไม่เก่งกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่