CafeTech-ExchangePantip MarketChatTrendyMobilePantown


    สามจังหวัดภาคใต้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน (แตกประเด็นจากกระทู้ข้างล่าง)

    ในกระทู้นี้จะต่อเนื่องจาก ๒ กระทู้ที่ผ่านมา (กระทู้ http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A2915914/A2915914.html และกระทู้  http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A2926891/A2926891.html)

    แต่ผมเห็นว่ากระทู้ทั้งสองกระทู้ข้างล่างมีภาพประกอบมากทำให้โหลดช้า อีกอย่างหนึ่งเรื่องที่จะพูดถึงวันนี้และวันต่อ ๆ ไป จะเจาะเฉพาะเรื่องของ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” อย่างเดียว เพราะเห็นว่ามีข้อมูลในเรื่องนี้มากพอสมควร และเป็นเรื่องที่กำลังเป็นข่าวอยู่ทุกวัน

    ความพยายามในการสร้างบรรยากาศให้แก่คนไทยที่ต่างศาสนา วัฒนธรรม และภาษา ให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคม ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีความสุขแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยหรือรอมชอมนั้น เป็นอุดมการณ์หนึ่งของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อย่างต่อเนื่องมาตลอด

    แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวชี้บอกถึงที่มาของนโยบายว่า “มีความขัดแย้งมาก่อน”

    ความจริงแห่งอุดมการณ์ดังกล่าวนี้ปรากฏเป็นกุศโลบายทั้งที่เป็นพระราชดำรัส และพระราชหัตถเลขาที่ฝ่ายปกครองบ้านเมืองต้องยึดเป็นแนวปฏิบัติตลอดมา สาระดี ๆ ที่บ่งบอกถึง “ความรอมชอม” และ “ความขัดแย้ง” นั้น มีดังต่อไปนี้

    ๑. ในปี พ.ศ. ๒๓๕๑ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชดำริว่า เมืองปัตตานีมีอาณาเขตกว้างขวาง ปกครองไม่ทั่วถึง และเกิดการกบฏแข็งเมืองขึ้นบ่อย ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งอาณาเขตเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง  คือ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี เมืองยะลอ เมืองรามัน และเมืองระแงะ แต่ละเมืองมีพระยาเมืองปกครอง โดยคำนึงว่า “เมืองใดมีคนพุทธมากก็ให้คนไทยพุทธเป็นพระยาเมือง เมืองใดมีคนไทยอิสลามมาก ก็ให้คนอิสลามเป็นพระยาเมือง” ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนเมืองทั้ง ๗ นี้ จากความดูแลของเมืองนครศรีธรรมราชไปขึ้นอยู่ในความดูแลของเมืองสงขลา

    พระราชดำริดังกล่าวนี้มีขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์สงครามกอบกู้เมืองปัตตานี ซึ่งนำโดย ดาโต๊ะ ปึงกาลัน วิธีการนี้ฝ่ายปัตตานีรู้ดีว่าเป็นนโยบายการลดอำนาจทางด้านการบริหารและการปกครองของบรรดาเจ้าเมืองมลายูที่มีอยู่ขณะนั้น และกล่าวกันว่า “บารมีและอำนาจของเจ้าเมืองมลายูก็มีเหลืออยู่แค่ปลายนิ้วชี้ของกษัตริย์สยามเท่านั้น”

    ๒. เนื่องจากฝ่ายสยามได้ข้อมูลว่า หัวเมืองปัตตานีเคยได้รับการสนับสนุนอย่างลับ ๆ จากเยอรมนี เช่น ขายอาวุธร้ายแรงให้ชาวมุสลิมในปัตตานีเพื่อเป็นหัวหอกต่อต้านอังกฤษในหัวเมืองมลายู ดังนั้น ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาศักดิ์เสนี (หนา บุนนาค) นักเรียนเก่าสำเร็จวิชาการทหารช่างจากเยอรมนีและมีภรรยาเป็นชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณในตำแหน่งผู้ช่วยข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชขณะนั้น ให้เป็นพระยาเดชานุชิต เข้ารับตำแหน่งเทศาภิบาล

    ๓. การรวมปัตตานีเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของมณฑลนครศรีธรรมราชที่ผู้คนมีวัฒนธรรมแตกต่างกัน มักมีปัญหาขัดแย้งบ่อย ๆ นานตลอดระยะเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๔๙) ที่พระยาสุขุมนัยวินิตมาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล (พระยาสุขุมนัยวินิต เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชคนแรก ซึ่งก่อนนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็นข้าหลวงพิเศษไปจัดการเมืองสงขลา นครศรีธรรมราช และพัทลุงในนามพระวิจิตรวรสาส์น) ซึ่งโดยสภาพความเป็นจริงแล้ว ชาวเมืองในบริเวณเจ็ดหัวเมืองมีอาการรังเกียจข้าราชการไทยที่รัฐบาลส่งไปปกครองเป็นทุนเดิมมากอยู่แล้ว จนมีการขุดรอยเท้าทิ้ง หรือเอาไม้เรียวคอยเฆี่ยนเงาเวลาข้าราชการไทยเดินผ่าน ดังนั้น เมื่อมีการประกาศใช้ข้อบังคับการปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง ร.ศ. ๑๒๐ จึงเท่ากับไปเพิ่มและกดดันความรู้สึกของเจ้าเมืองมลายูให้เกิดความเกลียดชังมากขึ้น และแสดงอาการกระด้างกระเดื่อง ขัดขืนต่อข้อบังคับ

    ดังนั้น เมื่อพระยาสุขุมนัยวินิตใช้อำนาจตามกฎหมายไทย โดยใช้ระบบศาลไทยกับชาวมุสลิมกลุ่มดังกล่าว จึงทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะกฎหมายไทยบางส่วนนั้นขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม นโยบายดังกล่าวนี้มุสลิมยอมรับไม่ได้ทั้งหมด จึงได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังผู้สำเร็จราชการที่สิงคโปร์เพื่อขอความเป็นธรรม โดยชี้แจงว่า “ผู้ปกครองส่วนใหญ่นั้น มิได้เคยนึกคิดในหัวใจของพวกเขาว่าพวกมุสลิมจะฝ่าฝืนบทบัญญัติอิสลามทั้งในอดีตและปัจจุบัน บรรดากฎหมายต่าง ๆ จึงออกมาขัดแย้งกับบทบัญญัติอิสลามอยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่ผู้ปกครองบางคนมีความต้องการมิให้ผู้ใดฝ่าฝืนจิตใจของพวกเรา แต่ผู้ที่ออกกฎหมายนั้นกลับมิใช่ผู้ห้าม และไม่เคยศึกษาบทบัญญัติอิสลามเสียก่อนที่จะออกกฎหมายมาปกครองเรา” (อ้างจาก “อิสลามกับมุสลิม” โดย อัชซะฮีด อับดุลกอเดร เอาดะฮฺ หน้า ๕๓)

    เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างมุสลิมปัตตานีกับเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจรัฐ และมีส่วนที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ทรงพิจารณาร่วมกันแล้ว มีพระราชดำริเห็นพ้องต้องกันว่า ควรที่จะส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ (ต้นราชสกุลยุคล) เจ้ากรมพลัมภัง กระทรวงมหาดไทย ไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เนื่องจากพระองค์สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ด้วยทรงสำเร็จการศึกษาวิชารัฐศาสตร์การปกครอง วิชาประวัติศาสตร์ (เกียรตินิยม) ระดับปริญญาตรี และปริญญาโททางด้านภาษาอักษรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการปกครองหัวเมืองมลายูของอังกฤษกับการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทยเป็นอย่างดี ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับข้าหลวงใหญ่สหพันธรัฐมลายูที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษมาก่อน แม้แต่เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิด) ก็ได้สมรสกับคุณหญิงเนื่อง ซึ่งเป็นคนในวังของพระมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งหากจะนับกันไปแล้วก็เปรียบเหมือนเครือญาติที่สนิทสนม ทำให้เข้าพระทัยวัฒนธรรมประเพณีอิสลามเป็นอย่างดี (การปกครองบริเวณ ๗ หัวเมืองต่าง ๆ ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๙ จากนั้นจึงได้จัดตั้งมณฑลปัตตานีขึ้นตามระบบมณฑลเทศาภิบาล และใช้มาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงได้ยกเลิกแล้วจัดเป็นระเบียบการปกครองที่บริหารราชการท้องถิ่นดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้)

    (คัดตันตอนและปรุงใหม่จากหนังสือ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดย รัตติยา สาและ พิมพ์ครั้งแรก, ๒๕๔๔ (โครงการย่อยภายใต้โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ซึ่งมีศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เป็นหัวหน้าโครงการ และได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.))

    จากคุณ : วศินสุข - [ 30 ก.ค. 47 22:56:30 ]


 
 



คลิกเพื่ออ่านกติกามารยาท
คลิกเพื่ออ่านHelp & FAQ
ต้องการแตกประเด็นจากกระทู้เดิมคลิกที่นี่
ความคิดเห็น : คลิกที่นี่เพื่อใช้งาน icon
ชื่อ : ตรวจสอบสถานะของ member ที่นี่
ไฟล์ประกอบ : (ไม่เกิน 150 K / Member เท่านั้น / Preview ไม่ได้)
(gif, jpg, png, mid, wav, mp3, wma, swf)
Photo2Mobile : ยินดีให้นำไฟล์ประกอบนี้ (เฉพาะ gif, jpg, png) ไปให้บริการส่งรูปเข้ามือถือจอสี
(เพื่อป้องกันการถูกฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ การอนุญาตควรมาจากเจ้าของรูปโดยแท้จริง)
ยินดี ไม่ยินดี
 
(ส่งไฟล์ประกอบ Preview ไม่ได้) PANTIP Toys