PLAY ON

ย้อนรอยการ์ตูน ผ่านชีวิตและหัวใจ .... 'ปยุต เงากระจ่าง'

 

ผมรู้จัก 'โดราเอมอน' ตั้งแต่เมื่อไหร่จำไม่ได้ แต่มีเพื่อนชื่อ 'อาราเร่' กับ 'เซนต์เซย่า' และ 'ดราก้อนบอล' มาตั้งแต่ตัวกระเปี๊ยก ซึ่งอาจจะรู้จักมากกว่า ลุงโกร่ง, หนูหิ่น หรือ ปังปอนด์ ซึ่งเป็นการ์ตูนไทยด้วยซ้ำ ที่กล่าวมานี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโลก 'การ์ตูน' เท่านั้นนะครับ เพราะในโลกของ 'การตูน' ยังมีตัวละครอีกนับไม่ถ้วน ผมเป็นคนรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตมาท่ามกลางจินตนาการ และแนวคิดที่ปล่อยพลังแสง หายตัวได้ เก่งเกินคน พอๆ กับมีรักหวานแหวว ย้อนอดีต เดินหาอนาคตเป็นว่าเล่น ที่ถูกเรียกว่า 'การ์ตูน' เพียงแต่มันเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่พูดไทยได้ จนบ่อยครั้งทำให้ผมเผลอลืมสัญชาติตัวเองไปเหมือนกัน …เมืองไทยก็มีการ์ตูน และยังมีคนทำหนังการ์ตูนได้ก่อนญี่ปุ่นด้วยซ้ำ เขาคือ 'ปยุต เงากระจ่าง' ...มีคนบอกผมในวันหนึ่ง และผมก็รู้สึกคุ้นหูกับชื่อๆ นี้มานาน แต่มันผ่านไปเหมือนสายลมบางเบา พอๆ กับ กระแสการ์ตูนไทยที่อ่อนเบาลง

เด็กชาย 'ปยุต เงากระจ่าง' เกิดเมื่อ พ.ศ.2472 ที่ตำบลหว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ ความฝันเริ่มทำการ์ตูนของเขามาจาก ชายผู้รักงานศิลป์ชื่อ 'เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน' และแม้โชคชะตาจะทำให้การพบกันอีกครั้งของเขาที่กรุงเทพฯ จะเป็นที่เชิงตะกอนของ 'เสน่ห์' แต่นั่นยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ 'ปยุต' สานฝันการทำการ์ตูนให้จงได้ กระทั่งความสำเร็จในการสร้าง 'เหตุมหัศจรรย์' ภาพยนตร์การ์ตูนไทยเรื่องแรกยาว 12 นาทีก็เป็นจริงในปี 2498 และในอีกสองปีต่อมา ภาพยนตร์การ์ตูนชิ้นที่สอง เรื่อง 'หนุมานเผชิญภัย (ครั้งใหม่)' ต่อด้วย เรื่องที่สาม 'เด็กกับหมี' ในปี 2503 ก็ถือกำเนิดขึ้น และ 'สุดสาคร' ภาพยนตร์การ์ตูนขนาดยาวเรื่องแรกและเรื่องเดียวของไทย ที่ประกาศตัวในปี พ.ศ. 2522 ทำให้ 'ปยุต' ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการ์ตูนแอนิเมชั่นเมืองไทย พร้อมๆ กับการสูญเสียดวงตาข้างซ้ายเนื่องจากการตรากตรำทำงานอย่างหนัก และขาดแรงสนันสนุนที่ดี แต่ในวันนี้ 'ปยุต เงากระจ่าง' หรือ 'อาจารย์ปยุต' ของลูกศิษย์รั้วเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในวัย 76 ปี กำลังระลึกความหลัง เล่าถึงปัจจุบัน ถามหาอนาคตให้กับการ์ตูนไทย...

"ผมรู้จักการ์ตูนครั้งแรกจากหนังสือพิมพ์รายวันของไทยอย่างสังข์ทอง , ขุนหมื่น , อภัยมณี และแมว เฟลิกซ์ ส่วนซุปเปอร์แมน , สไปเดอร์แมน , สนู้ปปี้ เนี่ยเริ่มอ่านจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเก่าๆ ที่เรือจากสิงคโปร์เอามาขายต่อให้ชาวบ้านใช้พับถุง ห่อของ แต่ในบรรดาการ์ตูนทั้งหมด ผมติดใจเรื่องพระอภัยมณีของ 'คุณสวัสดิ์ จุฑะรพ' มากที่สุดจนต้องตามไปดูในหนังสือพิมพ์ของร้านกาแฟเป็นประจำ ผมผูกพันกับการ์ตูนเรื่องนี้มากจนอยากทำเป็นหนังการ์ตูนให้ได้สักวันหนึ่ง ผมจึงเลือกเอา 'สุดสาคร' ขึ้นมาทำเป็นหนังการ์ตูนยาว

ตัวการ์ตูนที่ผมประทับใจมากที่สุดคือ 'ขุนหมื่น' ตัวการ์ตูนที่หน้าตาเหมือนป๊อปอาย แต่แต่งตัวแบบทหารไทยโบราณ เป็นตัวการ์ตูนแนวฝรั่งที่คุณสวัสดิ์ทำไว้ นับแต่โผล่มาในการ์ตูนเรื่อง 'สังข์ทอง' ตอนท้าวสามนใช้ให้ไปล่อเจ้าเงาะ ขุนหมื่นเลยใช้ดอกชบาล่อ คนก็ติดใจในความทะเล้นทะลึ่ง ช่างคิด ยิ่งมีบทบรรยายตลกสองแง่สองง่ามตามสมัยนิยมที่ช่วงนั้นเขานิยมเล่นกันในละครชาตรี ตัวละครตามพระอย่างขุนหมื่นก็ยิ่งเป็นที่ชื่นชอบจนได้มีบทบาทต่อมาอีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น พระอภัยมณี ประวัติพระยอดเมืองขวาง ฯลฯ"

การ์ตูนในความหมายของ 'อ.ปยุต' คืออะไรครับ

"การ์ตูนคือภาพขบขันอันสนุกสนาน มี Sense คือสื่อได้ง่าย ทั่วโลกใช้ภาพการ์ตูนเป็นสื่อการสอนมานานแล้ว ส่วนที่มาของคำว่าการ์ตูน มาจากภาษาละติน แปลว่ากระดาษแข็ง ฝรั่งเศสอ่านว่าการ์ตุน (cartune) อังกฤษอ่านว่าการ์ตูน ออกเสียงคล้ายฝรั่งเศส แต่ด้วยความที่กลัวภาษาตัวเองจะเสียจึงเขียนต่างออกมาเป็น cartoon ซึ่งความจริง ภาพตลกขบขัน ภาพล้อต่างๆ เขาจะเรียกว่า comic มากกว่า ขณะที่ประเทศไทยเรียกว่าภาพล่องถุน หรือภาพล้อ ภาพตลก จนกระทั่ง 'นายเปล่ง ไตรปิ่น' นำคำว่า cartoon มาใช้ในประเทศไทย

โดยทั่วไปการ์ตูนมี 5 ประเภท หนึ่งคือ 'การ์ตูนการเมือง' หรือการ์ตูนบทบรรณาธิการ ที่เราเห็นกันในหนังสือพิมพ์รายวันกันบ่อยๆ สองคือ 'การ์ตูนขำขัน' เป็นการ์ตูนแบบ 3-4 ช่องจบ เน้นตลกขบขัน อย่างในขายหัวเราะ สาม 'การ์ตูน Illustration' ใช้ทำภาพประกอบ ห่อขนม งานดีไซน์ ทำสื่อการสอนต่างๆ สี่คือ 'การ์ตูนคอมมิค' (comic) หรือการ์ตูนเรื่องยาวอย่างที่เราอ่านกัน และห้า 'การ์ตูน Animation' หนังการ์ตูนเรื่องอย่างสุดสาครที่ผมทำ"

จุดประกายความฝันเรื่องการ์ตูนของ 'อ.ปยุต' มีที่มาอย่างไร?
"ตอนผมอายุ 11-12 ปี กำลังเรียน ม.1 เมื่อ พ.ศ. 2484 ผมไปเดินดูภาพที่เขาวาดลงสีตามซุ้มร้านต่างๆ หน้าศาลากลาง ในงานออกร้านประจำปี ผมไปเจอผู้ชายคนหนึ่ง นุ่งกางเกงขาว สูบซิการ์ ใส่เสื้อกล้าม ผอมเพรียว ผมกระเซิง กำลังปีนบันไดไปตอกโปสเตอร์ผ้าผืนใหญ่ ภาพหน้าผู้หญิงยิ้ม มีตัวหนังสือเขียนว่า แป้งน้ำบาหยัน กลิ่นเสน่ห์รัญจวนใจ ผมเห็นก็เผลอชมว่า สวยจังเลย ยังกะภาพวาดของเสน่ห์ ผู้ชายคนนั้นถามว่ารู้จักเสน่ห์เหรอ ผมว่าไม่รู้จัก แต่จำได้ว่าเสน่ห์วาดรูปแบบนี้ล่ะ จากนั้นเขาก็ชวนคุยอะไรมากมาย ให้ผมวาดการ์ตูนให้ดู แล้วเขาก็ชวนไปกรุงเทพฯ ด้วยกัน ว่าจะพาไปหาเสน่ห์ (หัวเราะ) เพราะเสน่ห์อยากได้คนช่วยเขียนการ์ตูน เขาคิดจะทำหนังการ์ตูน ไอ้เราก็เคลิ้ม อยากไปแต่ห่วงที่บ้าน เขาเลยบอกว่าถ้าจะไปกรุงเทพฯ ให้ไปหาเขาที่ฝั่งตรงข้ามประตูวัดแก้วฟ้า สี่พระยา

ไม่กี่วันหลังจากนั้นญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกที่ประจวบฯ เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อผมขึ้นมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ไปหาซักที ได้เจอแต่ 'ส.อาสนจินดา' ที่ตอนนั้นเขาทำโรงพิมพ์อยู่ ผมยังหาทางไปหาคุณเสน่ห์ แต่มีเหตุให้ต้องคลาดกันอยู่เรื่อย พบกันอีกครั้งด้วยความบังเอิญที่เชิงตะกอน วัดพระพิเรน ปี 2490 ผมช็อคมากที่รู้ว่าคุณเสน่ห์ตายเสียแล้ว นี่เป็นอีกเหตุผลที่ผมมุ่งมั่นว่าต้องทำการ์ตูนเผื่อคุณเสน่ห์ให้ได้ สมัยนั้นเป็นยุคของจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ท่านเป็นคนรักการ์ตูนนะ รู้ว่าหนังการ์ตูนเป็น Education Film ซึ่งตอนมีชีวิตอยู่คุณเสน่ห์ก็มีโครงการหนังการ์ตูนไปเสนอ แต่ถูกรัฐมนตรีที่ไม่มีความรู้ให้คำแนะนำผิดๆ จนไปไม่ถึงดวงดาว โครงการต้องถูกพับไป ทั้งที่การ์ตูนมีส่วนช่วยในการสืบสานวัฒนธรรมไทยได้ โดยเฉพาะงานของรุ่นครูๆ ที่เคยทำไว้ ทำไมจอมพล.ป ถึงเดินทางไปงานศพของนักการ์ตูนธรรมดาๆ คนหนึ่ง (สวัสดิ์ จุฑะรพ) เพราะท่านรู้และเห็นว่า การ์ตูนช่วยเรื่องวัฒนธรรมไทยมาก"

การ์ตูนถูกแอนตี้มาตั้งแต่สมัยก่อน ว่าไร้สาระ มันมาจากสาเหตุอะไร "สมัยก่อนมีการทำหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต มีรูปการ์ตูนล้อประกอบ ล้อเลียนจุดเด่นจุดด้อยของขุนนางคนใหญ่คนโต ทำให้ภาพการ์ตูนถูกมองในแง่ลบในสายตาผู้หลักผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา ไม่ให้เอาภาพการ์ตูนเกี่ยวข้องกับหนังสือเรียน จนรุ่นลูกผมการแอนตี้เรื่องการ์ตูนก็ยังมี ล่าสุดรุ่นหลานผมๆ นึกว่าเลิกไปแล้ว ที่ไหนได้ยังมีการริบหนังสือการ์ตูนกันอยู่เลย (หัวเราะ) ขนาดสมัยที่ผมยังรับวาดรูปประกอบให้สำนักพิมพ์ ให้กระทรวงศึกษาฯ ยังมีปัญหาเลย เพราะพอวาดรูปออกแนวตลกนิดๆ การ์ตูนหน่อยๆ เขาก็ว่าต้องเปลี่ยน เขียนแบบนั้นในหนังสือเรียนไม่ได้ ทั้งที่เราอดหลับอดนอนวาด"

:: อ่านต่อในฉบับ ::

:: กลับไปหน้าหลัก ::