ภาพยนตร์บันเทิง

Guest Talk

 

กษิดินทร์ แสงวงศ์ : ละครไทยน่าเป็นห่วง ยังขาดในเรื่องคุณธรรม


กษิดินทร์ แสงวงศ์ คนเขียนบทละครโทรทัศน์รุ่นบุกเบิกอีกคนของ บริษัท เอ็กแซ็กท์ ถ้าใครที่เป็นแฟนละครประจำของเอ็กแซ็กท์คงจำผลงานของเขาได้ดีไม่ว่าจะเป็นละครแนวคอมเมดี้ ละครซิทคอม หรือแนวดราม่า อาทิ "คู่ชื่นชุลมุน", "เพื่อเธอ", "อยากหยุดตะวันไว้ที่ปลายฟ้า", "พิสูจน์รักจากสวรรค์", "รักหลอกๆ อย่าบอกใคร", "เกมรักพยาบาท", "เงามรณะ", "บาปรัก", "บ่วงรัก", "เสือ", "เมืองมายา", "เลือดหงส์", "รักในรอยแค้น", "อุบัติเหตุหัวใจ"

แต่เมื่อกระแสของละครเปลี่ยนไป โดยยึดเอาเรื่องเรตติ้งเป็นหลักว่าละครเรื่องนั้นดังหรือไม่ดัง ทำกำไรหรือเปล่า ทำให้เขาเริ่มไม่สนุกกับการทำงาน แม้จะพยายามทำความเข้าใจถึงทิศทางที่เปลี่ยนไปของละคร แต่เขาก็ยังปรับตัวไม่ได้ ก็เลยลาออกจากงานเขียนบทประจำที่ บริษัท เอ็กแซ็กท์มาทำงานตามที่ตัวเองต้องการและอยากจะทำ แต่มันก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาคิด

"เราเข้าใจนะว่าในวงการละครวิธีที่จะวัดกำไรหรือไม่กำไรคือเรตติ้ง กลายเป็นว่าเราจะต้องทำในสิ่งที่ตลาดอยากดูไม่ใช่แบบที่เคยคิด ซึ่งพี่ก็คิดเสมอว่าละครของเราต้องให้ตลาดดูไม่งั้นจะทำไปทำไม ก็เขียนเองอ่านเองดูเองสิ แต่สิ่งที่อยู่ในใจเราเสมอคือเราต้องไม่เหมือนคนอื่น เพราะเรามีลูกค้าของเราอยู่แล้ว เราจะไปแข่งกับคนอื่นเขาทำไม งานเราก็เลยออกมาไม่ค่อยเป็นแมสมาก เลยกลายเป็นว่าผู้ใหญ่คงมองว่าเราดื้อ จริงๆ ตัวพี่ไม่ได้อีโก้นะ แต่จะว่าไปมันก็คล้ายๆ กันระหว่างอีโก้กับความเชื่อมั่น แต่อีโก้คือไม่ฟังใครแล้วก็ไม่สนใจ แต่เราแค่อยากทำอะไรที่ไม่เหมือนใคร

พี่รู้สึกว่าคนทำงานด้านนี้ต้องมีตัวตน เมื่อไหร่ที่ตัวตนถูกกระทำก็ทำงานไม่ได้ก็เสียบุคลิกภาพ มันหลงไปหมด อันนี้ก็ผิดอันนั้นก็ผิดแล้วอะไรคือสิ่งที่คนดูขื่นชมเรามา ช่วงท้ายเราสับสนหลายครั้งเราเหมือนเสียศูนย์ไปเลยนะ ไม่รู้จะไปยังไงเพราะถูกแก้บทมากๆ ไม่ใช่ว่าแก้ไม่ได้แต่บางทีแก้จนเรางงไปหมด จนเราสับสนเราหลงทางไม่รู้จะไปทางไหน"

เหมือนทำตัวสวนกระแสหรือเปล่า
"พี่ไม่ได้สวนกระแสแต่พี่มีคำหนึ่งอยู่ในใจเสมอ เป็นคำแสนคมของอาจารย์สดใสที่บอกว่า ละครคือเครื่องยกระดับวิญญาณมนุษย์ คือสิ่งที่เรารับมาตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือ หมายความว่างานละครไม่ใช่แค่เอามันแต่ต้องเอาให้คนดูเข้าใจปัญหาของตัวเขาเองและคนอื่นๆ ในสังคม และทำให้ยกระดับตัวเองขึ้นมาอยากทำอะไรดีๆ เพื่อสังคมเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็อดไม่ได้ที่จะต้องเอามาอยู่ในงานของเรา แต่เราก็ไม่ได้ว่าคนอื่นนะ เพราะคนอื่นก็คงคิดเหมือนเรา ทุกคนก็พยายามทำเหมือนกัน"

ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อต้องการทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ
"พอเราออกจากเอ็กแซ็กท์ก็ยังมีอาการนี้อยู่ อยากทำอะไรไม่เหมือนใคร อยากทำอะไรแปลกๆ  เราก็เลยเฟลกับหลายๆ บริษัทที่ไปทำ เพราะเขาไม่เอาเรา ยิ่งเป็นช่อง 3 หรือช่อง 7 ยิ่งไม่เอา ระหว่างปีกว่าๆ เราก็นั่งถามตัวเองว่าทำไมโลกนี้ไม่ต้องการเราแล้วหรือ จนได้เข้าไปคุยกับบริษัททีวีธันเดอร์ เราก็เลยได้เขียนบทเรื่อง "เขยบ้านนอก" โดยที่เราเอาประสบการณ์ที่เราเฟลต่างๆ มาเขย่ามัน และคิดว่ามันต้องแมสมันต้องป๊อป คนดูต้องสนุกกับมัน
ปรากฏว่าละครเรตติ้งดี เพราะด้วยโครงเรื่องที่แน่นมาก และทะลึ่งตลกตึงตังซึ่งเราพอถนัดด้านนี้เลยทำให้แบบว่าหาทางลงสำเร็จ แล้วเป็นละครก่อนข่าวด้วยไม่ได้เน้นความเป็นดราม่ามากเลยพอไปได้ และอยู่ที่เราปรับตัวเองด้วย กว่า 2 ปีที่ผ่านมาเราก็พยายามปรับเปลี่ยนการทำงานของเราด้วยแต่ก็ไม่ได้ปรับทั้งหมด จาก "เขยบ้านนอก" ก็มี "เจ้าสาวไร่ส้ม", "วุ่นนักรักข้างตลาด", "จิตตประภัสสร" และ "คู่รักต่างขั้ว"

เปลี่ยนแนวคิดปรับงานเขียนให้เป็นตลาดมากขึ้น
"ต้องเป็นอยู่แล้ว ทุกวันนี้ถ้าละครบ้านเรายังต้องการอย่างนี้เราก็ต้องทำให้ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่จะอยู่ในใจเราเสมอคืองานเราต้องมีประโยชน์ เราคิดอยู่เสมอว่าในแต่ละตอนจะเละเทะแค่ไหนสนุกสนานบ้าบอแค่ไหนต้องมีเนื้อหาต้องมีประเด็นสอนให้รู้ เป็นหลักที่เราต้องยึดและถ้ามีเวลาสิ่งที่เราพยายามจะทำคือหากลยุทธ์ในการนำเสนอ วิธีพรีเซนต์ของละครทำไงไม่ให้มันธรรมดา หรืออะไรที่พอจะแปลกไปบ้าง เราต้องหาอะไรใหม่ๆ มานำเสนอตลอด เราต้องทำงานของเราให้ดูได้ทั้งหมดให้คนทุกระดับดูได้และรับได้
โชคดีที่เราเป็นคนหลายยุค ถึงแม้จะทำงานอยู่ตรงนี้มานานกว่า 20 ปี ถึงอายุจะเยอะแล้ว แต่เราก็มีรุ่นหลังตามเราอยู่ที่บ้านคือลูกๆ ของเรา คนโตเพิ่งเรียนจบกำลังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ส่วนคนเล็กเรียนอยู่ ป.5 เรามีตัวอย่างให้ดูเลยไม่ตกยุคเพราะเราก็เล่นอินเทอร์เน็ตเล่นเฟซบุ๊ก ทำให้เราได้คบกับคนทุกรุ่นได้อ่านความเห็น ได้เข้าใจวิธีคิด"

เมื่อก่อนเขียนแนวดราม่าแต่ตอนนี้เปลี่ยนมาเน้นแนวคอมเมดี้
"ก็ไม่มีใครให้ทำอย่างอื่นมั้ง (หัวเราะ) จริงๆ เราชอบคอมเมดี้มากกว่า เพราะเราเป็นคนขำๆ ด้วยกับทุกอย่างก็พยายามหามุมขำ และเราเชื่อว่าคอมเมดี้มันเข้าถึงใจคนได้มากกว่า แต่ในคอมเมดี้ของเราไม่ได้บ้าบอไม่ใช่ไม่มีสาระไม่มีเหตุผล แต่คอมเมดี้ของเราคือพยายามมองเรื่องแย่ๆ ให้เป็นเรื่องขำๆ ชีวิตยังมีความหวังหรือไม่ก็หัวเราะเยาะมันไปเลย คอมเมดี้ของพี่จะออกแนวประชดชีวิตมากกว่า ไม่ถึงขนาดตลกคาเฟ่"
สิ่งที่น่าห่วงสำหรับละครไทยตอนนี้
"ตอนนี้ที่น่าห่วงคือเรื่องของคุณธรรมจนต้องขอเรียกร้อง ละครจะมันยังไงก็ได้จะตบกันยังไงก็ตามแต่แก่นของเรื่องคำว่าคุณธรรมต้องมีบ้าง แต่มันอันตรายถ้าสื่อหรือละครไม่เป็นเครื่องมือในการทะนุถนอมสังคมหรือช่วยกันประคับประคองฉุดเอาสิ่งดีๆ ขึ้นมาเยอะๆ  สังคมก็จะแย่ไปไม่รอด ละครจะเปลี่ยนไปแค่ไหนแต่ตรงนี้ต้องมี อย่างของฝรั่งไม่ได้เลยนะเขาจะมีหลักการตรงนี้อยู่ เรตติ้งจะเอาอะไรก็เอาไปแต่คำว่า คุณธรรม ความดีงามต้องมีอยู่ในงานคุณเสมอ อย่างซีรีส์ฝรั่งที่เราดูทุกเรื่องพอเบรกที่สามเขาจะมาพูดเรื่องคุณธรรมศีลธรรม ทุกเรื่องเลยสังเกตดูสิ แต่บ้านเราก็ไม่ถึงกับขาดหรอกแต่มันน้อย และบางทีชอบไปรวมกันอยู่ในตอนจบ ซึ่งหลายคนก็คงเป็นและเข้าใจตรงกัน เวลาดูละครไทยแล้วถอนหายใจทำไมอย่างนี้อีกแล้วแต่มันก็ขายได้ไง"

ละครตอนนี้มักจะวัดกันที่เรตติ้งเป็นหลัก คิดว่าเรตติ้งเชื่อถือได้มากแค่ไหน
"พี่ว่าก็น่าจะได้นะเพราะบริษัทที่ทำก็มีชื่อเสียง แต่ถ้ามันจะไม่ได้ก็กรณีที่ไม่ยอมรับ อะไรคนดูแค่พันกว่าแต่มาตัดสินแทนคนเป็นล้าน"

ผลงานที่ออกมาคิดว่าน้อยไปไหม
"ถ้าเอาจริงๆ ก็น้อยไปหน่อย แต่ถ้าให้เขียนเยอะมากๆ ก็ไม่ไหว เพราะบางทีคิดไม่ออกมีตันบ้าง เพราะการทำงานพรวดพราดไม่ได้มันต้องใช้ความคิด แต่เราก็รู้สึกแฮปปี้ที่ได้ทำ งานที่เรารับผิดชอบและทำอยู่ทุกวันนี้เป็นงานที่ดีและอยากทำหมดเลย ไม่มีใครบังคับ ละครเรื่องไหนที่เราเหมือนจะถูกบังคับโชคชะตาก็จะปัดให้พ้นจากเราไปเอง มันจะเป็นอย่างนี้ งานอะไรที่เรารู้สึกรักแต่พอทำไปแล้วไม่อินมันก็จะผ่านไป"

งานน้อยจนท้อคิดจะเลิกเขียนบท
"ถ้าเลิกก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ก็หวังว่าอยู่อย่างนี้ทำสิ่งที่ทำได้ให้มากที่สุดเพราะไม่รู้จะไปทำอะไร ตอนแรกคิดจะเปิดร้านอินเทอร์เน็ตแต่เราเห็นเยาวชนมั่วสุมกันกลายเป็นว่าทำบาป พอจะไปเลี้ยงกระต่ายเนื้อที่ส่งไปทำเป็นอาหารที่ภัตตาคาร เพื่อนก็บอกอย่าไปทำธุรกิจเกี่ยวกับฆ่าสัตว์เลยมันบาปกรรมก็ไม่ทำ ครั้นจะเปิดผับก็มีคนมาบอกว่าตำรวจจะเข้ามายุ่งก็ไม่ทำ ตอนนี้ก็เลยรออยู่เพราะลูกชายเรียนจบแอนิเมชั่น คิดว่าถ้างานเขียนบทซาลงอยากจะทำเรื่องการตูน เป็นพวกนิทานอีสป"

มุมมองกับวงการละครที่เปลี่ยนไป
"จริงๆ ก็ไมได้เปลี่ยนไปหรอก มันก็เป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจมันเพราะเราต้องทำงานเลี้ยงชีพอยู่ แต่เราก็ต้องเอาให้หมด คือเรตติ้งต้องได้ กระแสต้องได้ เนื้อหาก็ต้องได้ มันเป็นความฝันของเราแต่ก็ยากนะ เหมือนจับปลาหลายมือกลัวจะหลุดหมดก็ต้องพยายามไป"

ตั้งเป้าหรือวางตัวเองต่อไปยังไงกับอาชีพนี้
"ก็คงอยากทำงานดีๆ และเราจะทำไงให้งานของเราสนุกและคนจำนวนมากซึมซับไปกับสิ่งที่เราอยากจะบอก"

คำแนะนำสำหรับน้องๆ ที่อยากเป็นนักเขียน
"ก็เป็นคำแนะนำที่เรามักจะบอกตลอดว่าดูให้เยอะๆ อ่านให้เยอะๆ และเลือกดูของดีๆ สมัยก่อนพี่จะโดนสั่งให้ดูอะไรที่ฮิตๆ อย่างที่ผ่านมาละครเรื่อง "ดอกส้มสีทอง" เรตติ้งพุ่งกระฉูดเราก็ต้องดู ถ้าคนรักจะทำงานละคร อะไรที่ฮิตๆ ต้องดู ไม่ได้ดูเอาเป็นตัวอย่างแต่ดูแล้ววิเคราะห์ว่าเขาเล่าแบบนี้นะคนถึงติด พอเราดูแล้วเรารู้สึกติดแล้วก็ต้องหาให้ได้ว่าเขาเล่ายังไง"



:: อ่านต่อในฉบับ ::
:: กลับไปหน้าหลัก ::